ประวัติ ของ เดือน บุนนาค

ชีวิตส่วนตัว

ศาสตราจารย์ เดือน บุนนาค หรือที่รู้จักกันในนาม ศาสตราจารย์ ดร.เดือน บุนนาค เกิดในตระกูลขุนนาง เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2448 ปีมะเส็ง บริเวณบ้านถนนสินค้า พระนคร เป็นบุตรพระยาประเสนชิตศรีพิลัย (ดัด บุนนาค) กับคุณหญิงทรัพย์ บุนนาค (สกุลเดิม จุลดุลย์) นับเป็นลำดับชั้นที่ 6 ของตระกูลบุนนาค[2]

ด้านครอบครัวสมรสกับ คุณหญิงเยาวมาลย์ ธิดาพระยาอนุรักษ์โกษา (ประเวศ อมาตยกุล) และคุณหญิงแถม มีบุตรธิดา 4 คน คือ เดือนฉาย ธัลดล ดนุช และรัฐฎา

เสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2525 โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ ศ.สัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ ไปในการพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส[3]

การศึกษา

เริ่มต้นการศึกษาในปี พ.ศ. 2454 ที่โรงเรียนวัดราชบูรณะ จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2455 และจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ใน พ.ศ. 2459 พ.ศ. 2465 ได้ไปศึกษาต่อทีโรงเรียนลีเซ (Lycée) ณ เมืองเกรอนอเบลอ (Grenoble) ประเทศฝรั่งเศส และสามารถสอบ Equivalence de Baccalauréat ได้ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2468

จากนั้น ได้เข้าศึกษา ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกรอนอบ ได้ปริญญา Licencié en droit “Très bien” เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2471

ต่อมาย้ายมาเรียนต่อที่ ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยปารีส จนได้รับ Diplôme d'Études Supérieures de droit privé และ Diplôme ď'Études Supérieures de l'Économie Politique ในเดือนพฤษภาคม 2472 และได้รับปริญญาเอก (Docteur en droit) จากมหาวิทยาลัยปารีส ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2473

ประสบการณ์การทำงาน

  • รับราชการและการเมือง

เริ่มต้นฝึกราชการเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2473ศาลฎีกา กระทรวงยุติธรรม และได้เป็นผู้พิพากษาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2474 เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ได้ร่วมจัดระเบียบราชการบริหารจากสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นประชาธิปไตย โดยได้โอนจากกระทรวงยุติธรรมไปดำรงตำแหน่งเลขานุการ กรมร่างกฎหมายคณะรัฐมนตรี จนในที่สุดได้เป็นเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2477[4]

เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2488 ได้ลาออกจากเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และได้ดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น รัฐมนตรีที่ไม่ได้ประจำกระทรวง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ[5][6] รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์[7] รองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีหลายท่าน ได้แก่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม พันตรีควง อภัยวงศ์ นายทวี บุณยเกตุ นายปรีดี พนมยงค์[8] และพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์[9]

  • วิชาการและบริหารมหาวิทยาลัย

เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและเลขาธิการมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เคยรักษาการในตำแหน่งผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย[10] และเมื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปิดตลาดวิชา ได้เป็นคณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และคณบดีของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คนแรก นอกจากนี้ยังเป็นเป็นอาจารย์พิเศษ สอนวิชาความรู้เบื้องต้นของกฎหมาย และกฎหมายฝรั่งเศส และ ได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์วิสามัญ[11]อีกด้วย

  • งานด้านรัฐสภา

ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภท 2 ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2478 จนถึงวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2486 และได้เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2489 เคยเป็นกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณาสังคายนารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 และทำการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 นอกจากนี้ยังได้รับแต่งตั้งเป็นพฤฒสภาในปี พ.ศ. 2489

แหล่งที่มา

WikiPedia: เดือน บุนนาค http://www.moe-news.net/index.php?option=com_conte... http://www.debsirinalumni.org/webboard_show_ans.ph... http://www.econ.tu.ac.th/doc/article/fulltext/205.... http://www.ohmpps.go.th/searchsheetlist.php?get=1&... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2483/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2486/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2487/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2488/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2489/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2490/A/...